การสะสมไมล์สายการบิน

จาก TSWiki
รุ่นปรับปรุงเมื่อ 15:11, 4 เมษายน 2555 โดย Chinissai (พูดคุย | เรื่องที่เขียน) (Removed Continental Airlines)

(ต่าง) ←รุ่นปรับปรุงก่อนหน้า | รุ่นล่าสุด (ต่าง) | รุ่นปรับปรุงถัดไป→ (ต่าง)

เนื่องด้วยเราจะต้องมาใช้ชีวิตอีกสิบปีในประเทศที่การเดินทางทุกก้าวย่างต้องใช้เครื่องบิน ตั้งแต่การเดินทางจากไทยมาที่อเมริกา รวมไปถึงการเดินทางต่างๆในประเทศนี้ด้วย การเข้าร่วม Frequent Flyer Program หรือโปรแกรมสะสมไมล์ของสายการบินนั้นค่อนข้างมีความสำคัญ เพราะจะทำให้เราได้สิทธิ์หลายๆอย่างเพิ่มเติมจากการเดินทางของเรา

สะสมไมล์ทำยังไง?

การสะสมไมล์นั้น หลักการเบื้องต้นคือเราสมัครเป็นสมาชิกโปรแกรมสะสมไมล์ของสายการบินที่เราบินด้วยบ่อย และเมื่อเราเดินทางกับสายการบินนั้นๆ จำนวนไมล์ที่เราเดินทางไปจะถูกสะสมไว้ในบัญชีของสายการบิน เมื่อยอดสะสมถึงเกณฑ์แล้วเราจะสามารถใช้ไมล์สะสมนั้นไปแลกตั๋วเครื่องบินฟรี (Award Ticket) ไปอัพเกรดตั๋วเครื่องบินที่เราซื้อมา (Upgrade Award) หรือใช้แลกของอื่นๆได้ คล้ายๆกับการสะสมแต้มบัตรเครดิตนั่นเอง เมื่อเราสมัครเป็นสมาชิกโปรแกรมสะสมไมล์ เราจะได้หมายเลข Frequent Flyer Number มา เราต้องกรอกเลขนี้ทุกครั้งเมื่อจองตั๋ว และตรวจสอบว่าเลขนี้ปรากฏอยู่บนบัตรขึ้นเครื่อง (Boarding Pass) ด้วย บางสายการบินสามารถแจ้ง Frequent Flyer Number ตอนเช็คอินได้ และหากว่าเราลืมแจ้งหมายเลขนี้ ให้เก็บ Boarding Pass ตัวจริงไว้และส่งไปขอไมล์สะสมกับสายการบินภายในระยะเวลาที่แต่ละสายการบินกำหนด

Airline Partner/ Alliance

เนื่องจากโลกนี้มีสายการบินอยู่เป็นจำนวนมาก และแต่ละสายการบินก็ให้บริการในแต่ละประเทศ แต่ละภูมิภาคแตกต่างกันไป สายการบินต่างๆจึงมีการรวมกลุ่มเป็นพันธมิตร (Alliance) เพื่อให้การสะสมไมล์และการแลกตั๋วเครื่องบินทำได้ง่ายขึ้น

โลกนี้มีกลุ่มพันธมิตรสายการบินอยู่สามกลุ่ม ได้แก่ Star Alliance, oneworld และ Sky Team นอกจากนี้ยังมีหลายสายการบินที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของพันธมิตรใดเลย ตัวอย่างสายการบินในแต่ละกลุ่มเช่น

  • Star Alliance: Thai Airways International (TG), United Airlines (UA), US Airways (US), All Nippon Airways (NH), Asiana Airlines (OZ), Singapore Airlines (SQ), Lufthansa (LH), Swiss International Air Lines (LX), Air China (CA), Air Canada (AC)
  • SkyTeam: Delta Air Lines (DL), Air France (AF), Korean Airlines (KE),China Southern Airlines (CZ), KLM (KL)
  • oneworld: American Airlines (AA), Cathay Pacific (CX), British Airways (BA), Finnair (AY), Japan Airways (JL), Qantas Airways (QF), Royal Jordanian (RJ)
  • ไม่มีกลุ่ม: AirTran Airways (FL), Southwest Airlines (WN), Emirates (EK), Ethihad (EY), Qatar Airways (QR), China Airlines (CI), EVA Air (BR)

ประโยชน์ของกลุ่มพันธมิตรคือถ้าหากเราเป็นสมาชิกของหนึ่งในสายการบินในกลุ่ม เราจะสามารถสะสมไมล์เมื่อเดินทางกับสายการบินใดก็ได้ในกลุ่มพันธมิตร ยกตัวอย่างเช่นถ้าเราเป็นสมาชิก Royal Orchid Plus (ชื่อโปรแกรมสะสมไมล์) ของการบินไทยซึ่งอยู่ใน Star Alliance เราจะสามารถสะสมไมล์เมื่อเราเดินทางกับสายการบินอื่นๆในเครือ Star Alliance ได้ด้วย นอกจากนั้นเรายังสามารถใช้ไมล์สะสมในบัญชีของการบินไทยเพื่อแลกตั๋วของสายการบินอื่นๆในเครือ Star Alliance ได้เช่นกัน

นอกจากการรวมกลุ่มเป็นพันธมิตรแล้วบางสายการบินยังมีสัญญาร่วมกันเป็น Airline Partner ยกตัวอย่างเช่น Qatar Airways ไม่ได้เป็นสมาชิก Star Alliance แต่สามารถสะสมไมล์กับ United Airlines ซึ่งเป็นสมาชิก Star Alliance ได้เป็นต้น

สำหรับสายการบินที่ไม่ได้อยู่ใน Alliance ใดๆจะสามารถสะสมไมล์เมื่อเราบินกับสายการบินนั้นๆเท่านั้น ในบางกรณีสายการบินที่ไม่ได้อยู่ใน Alliance อาจจะมี Partner Airline อื่นๆได้ รายละเอียดให้ตรวจสอบกับเว็บไซต์สายการบิน

Mileage Accrual Rate

จำนวนไมล์ที่เราจะสะสมได้นอกจากจะขึ้นอยู่กับระยะทางที่เราเดินทางแล้ว ยังขึ้นอยู่กับ Booking Class ที่เราจองตั๋วด้วย เวลาเราจองตั๋วเครื่องบินผ่านเว็บไซต์หรือผ่าน Agency เราจะได้รับแจ้งว่าเราจองตั๋วเป็น Economy และจะมีตัวอักษรตามหลัง เช่น Economy (Q) ตัวอักษรนี้เรียกว่า Booking Class สายการบินต่างๆมีระบบ Booking Class ต่างๆกัน ดังนั้น Q Class ของ United Airlines อาจมีเงื่อนไขที่ต่างจาก Q Class ของการบินไทย บาง Booking Class ที่เป็นตั๋วลดราคาอาจจะสะสมไมล์ได้ไม่ถึง 100% เช่นตั๋ว V, W และ G ของการบินไทยจะสะสมไมล์ไม่ได้เลย ส่วน Booking Class ที่เป็น Business หรือ First Class ก็จะสะสมไมล์ได้มากกว่า 100% ตั๋ว Economy ส่วนใหญ่ในประเทศสหรัฐอเมริกาจะสะสมไมล์ได้ 100%

แต่ละสายการบินมีนโยบายเกี่ยวกับ Mileage Accrual Rate ที่แตกต่างกัน เราต้องไปตรวจสอบจากหน้าเว็บของสายการบินเอง

วิธีอื่นๆในการสะสมไมล์

นอกจากการเดินทางบนเครื่องบินแล้ว การใช้จ่ายอื่นๆสามารถเพิ่มยอดไมล์ในบัญชีเราได้ เช่นการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตบางประเภท การเช่ารถ การจองโรงแรม กับบริษัทที่มีข้อตกลงกับสายการบินเป็นต้น Award Miles/Qualified Miles ไมล์ที่สะสมกับสายการบินมีสองประเภท คือ Award Miles กับ Qualified Miles โดยทั่วไป Award Miles คือไมล์ที่ได้จากการบินกับสายการบินนั้นๆ สายการบินใน Alliance และ Partner Airline รวมไปถึงการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต หรือการเช่ารถ จองโรงแรม Award Miles คือไมล์ที่เราใช้แลกรางวัลต่างๆ แต่ละสายการบินจะมีกำหนดอายุของ Award Miles ที่แตกต่างกัน เช่นสำหรับการบินไทย Award Miles จะมีอายุ 2 ปี ต้องใช้ให้หมดไม่เช่นนั้นจะถูกตัดยอดทิ้ง แต่สำหรับ United Airlines นั้น Award Miles จะไม่มีวันหมดอายุตราบใดที่มีการบินเพิ่ม หรือใช้ไมล์ภายใน 18 เดือนเป็นต้น Qualified Miles เป็นไมล์ที่ได้จากการเดินทางบนสายการบินนั้นๆ และสายการบินใน Alliance เท่านั้น (การเดินทางบน Partner Airline จะไม่ได้รับ Qualified Miles) ไมล์ชนิดนี้ใช้ในการพิจารณาเลื่อนระดับสมาชิกของเรา โดยทั่วไปสมาชิกจะมีสามระดับ คือทั่วไป บัตรเงิน และบัตรทอง ซึ่งแต่ละสายการบินก็มีสิทธิประโยชน์สำหรับสมาชิกแต่ละระดับแตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่นได้น้ำหนักกระเป๋าเพิ่ม ได้อัพเกรดชั้นโดยสาร ได้ขึ้นเครื่องก่อนผู้โดยสารอื่นๆ เป็นต้น โดยทั่วไปแล้วสายการบินจะกำหนดเกณฑ์ของสมาชิกระดับต่างๆแตกต่างกัน เช่นการเป็นสมาชิกบัตรเงิน (Premier) ของ United Airlines จะต้องบินให้ได้ Qualified Miles 25,000 ไมล์ภายในหนึ่งปี และบัตรทอง (Premier Executive) ต้องบิน 50,000 ไมล์ในหนึ่งปีเป็นต้น ในบางกรณี Booking Class ต่างๆก็มีผลกับการสะสมไมล์สองชนิดนี้แตกต่างกัน เช่น Economy B และ Y ของ United Airlines จะสะสม Award Miles ได้ 100% แต่สะสม Qualified Miles ได้ 150% เป็นต้น

แล้วจะสะสมกับสายการบินใดดี

การเลือกสายการบินที่จะสะสมไมล์ด้วยนั้นต้องศึกษาเงื่อนไขต่างๆอย่างรอบคอบ บางสายการบินมี Partner Airline มากกว่า ทำให้สะสมไมล์ได้ง่ายกว่า บางสายการบินใช้ไมล์ในการแลกรางวัลน้อยกว่า บางสายการบินได้บัตรเงินหรือบัตรทองง่ายกว่า แต่ข้อแนะนำทั่วไปคือเราควรสมัครสะสมไมล์กับสายการบินที่เราเดินทางด้วยบ่อยที่สุด สำหรับสายการบินในอเมริกา ให้ดูว่าโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยที่เราศึกษาอยู่นั้นอยู่ใกล้กับสนามบินที่เป็น Hub ของสายการบินอะไร หรือมีสายการบินใดบินให้บริการบ้าง ข้อมูลเหล่านี้สามารถหาได้ในเว็บของสายการบินและ Wikipedia ของสนามบินต่างๆ ตัวอย่างเช่นหากเราไปศึกษาต่อในสถานศึกษาในเมือง Chicago ซึ่งเป็น Hub ของ United Airlines และ American Airlines เราก็จะมีโอกาสใช้บริการสองสายการบินนี้มากกว่า ดังนั้นเราจึงควรสมัครโปรแกรมสะสมไมล์กับสองสายการบินนี้เป็นต้น